HPV ไวรัสตัวร้ายที่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก หลายคนยังมีความเชื่อที่ผิดว่าไวรัสชนิดนี้คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับผู้หญิงที่มีคู่นอนเท่านั้น ทำให้คนโสดหลาย ๆ คนเบาใจว่าตัวเองปลอดภัยแน่ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
หมอปิ๊ง หรือ พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์แห่งโรงพยาบาลวิมุต กล่าว “คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จนนำไปสู่การติดเชื้อและการเกิดโรคในระยะยาว” และวันนี้คุณหมอปิ๊งจะมาช่วยแก้ไขความเชื่อผิด ๆ รวมถึงปัญหาคาใจของสาว ๆ HPV (Human Papilloma Virus) มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้มีประมาณ 14 สายพันธุ์ โดยเป็นสายพันธุ์ที่ 16 กับ 18 ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากลูกมากที่สุด
ไวรัส HPV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น?
“เพศสัมพันธ์ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดค่ะ HPV ติดต่อจากการสัมผัสเชื้อ แต่พอพูดถึงเรื่องอวัยวะเพศก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ไปซะทั้งหมด จริงๆ แล้วหากมีการสัมผัสบริเวณที่ติดเชื้อทางใดทางหนึ่งก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การใช้อุปกรณ์ใดๆ สอดใส่ช่องคลอด หรือแม้แต่การสวนล้างช่องคลอด ดังนั้น คนโสด คนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือคนที่ไม่ได้เปลี่ยนคู่นอน ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสียทีเดียว นอกจากนี้หากมีการสัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์ ทางทวารหนักหรือทางช่องปาก (Oral sex) ก็มีโอกาสติดเชื้อได้หมด” หมอปิ๊ง กล่าว
ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย
“สำหรับผู้หญิงที่ได้รับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งก็อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ไปจนถึงมะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศของผู้หญิง ฯลฯ แต่ก็ใช่ว่าผู้ชายที่ได้รับเชื้อจะปลอดภัย เพราะเชื้อ HPV สามารถก่อให้เกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายได้ หรือในกลุ่มชายรักชายก็มีโอกาสติดเชื้อทางทวารหนักจนทำให้เป็นมะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งในช่องปากได้เหมือนกัน” ถ้ามีความเสี่ยงมาก เช่นการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ก็มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติด HPV
นอกจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยและการมีโรคประจำตัวที่กล่าวไป สำหรับผู้หญิง การใช้ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงและทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยเสริมเหตุผลแรกก็คือ ผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิดมักจะคิดว่าป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว จึงไม่ได้เคร่งครัดให้ฝ่ายชายต้องใส่ถุงยางอนามัย จึงยิ่งเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้โดยตรงมากขึ้น
ทราบได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อ HPV และมีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างไร
เนื่องจากการติดเชื้อ HPV ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยหลังจากได้รับเชื้อ กว่าจะเป็นเซลล์ผิดปกติอาจใช้เวลาหลายปี บางงานวิจัยระบุว่าอาจนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว “วิธีการป้องกัน วิธีหนึ่งคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจหาเชื้อไวรัสHPVด้วย เพราะ HPV ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุด ส่วนการคัดกรองในผู้ชายยังไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัด ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อHPV น่าจะเป็นวิธีการรับมือกับ HPV ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
วิธีการฉีดและประสิทธิภาพของวัคซีน HPV
เราสามารถเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบจนถึงอายุ 26 ปี ซึ่งฉีดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยถ้าเป็นผู้หญิงอาจได้ถึง 45 ปี ปัจจุบันมีวัคซีน 3 แบบ ได้แก่ วัคซีน 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ โดยควรเริ่มฉีดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก คือก่อนที่เราจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV เพื่อให้วัคซีนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โรงพยาบาลวิมุต มีบริการแบบ 4 และ 9 สายพันธุ์ คือ นอกจากจะครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 16 กับ 18 ที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว วัคซีน 4 สายพันธุ์ยังครอบคลุมอีก 2 สายพันธุ์ (คือสายพันธุ์ที่ 6 กับ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่) และสำหรับวัคซีน 9 สายพันธุ์ก็จะครอบคลุมเพิ่มอีก 5 สายพันธุ์ทำให้เกิดมะเร็งได้ ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ถ้าอายุเกิน 15 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ถ้าฉีดครบตามนี้ก็สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นอีกเลย
“จริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องตรวจภายในหรือตรวจคัดกรอง ถ้าเราพร้อมก็สามารถมาฉีดวัคซีนได้เลย หรือแม้กระทั่ง สำหรับผู้ที่เคยตรวจพบเชื้อไวรัส HPVมาก่อนแล้ว การมาฉีดวัคซีนก็ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่น ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างมากทีเดียวค่ะ” หมอปิ๊งกล่าวสรุป