บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย เดินหน้ามอบความ “กินดีมีสุข” ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรเติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ ในระดับโลก ชูวัฏจักรชีวภาพ (Ajinomoto Biocycle) สร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสานต่อ โครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ทลายขีดจำกัดและปัญหาทางเกษตร ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจร โดยส่งโมเดล “Farm School” มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและกาแฟ เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก ประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าตลาด 69,839 ล้านบาท โดยมันสำปะหลังมีความต้องการของตลาดเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ในขณะที่กาแฟโรบัสตามีมูลค่าตลาด 1,051.59 ล้านบาท ซึ่งตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดมีสูงขึ้น แต่ประเทศไทยกลับเผชิญกับปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังและกาแฟลดลง พบว่าผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้จะลดเหลือรวม 24.7 ล้านตัน จากปี 2558 ที่มีผลผลิตรวม 33.5 ล้านตัน สำหรับปี 2566 มีผลผลิตกาแฟรวม 16,575 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิตรวม 37,992 ตัน สะท้อนความสำคัญของปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ ยังพบ 6 ปัญหาหลักที่เกษตรกรมันสำปะหลังพบเจอ ได้แก่ 1) การจัดการดิน 2) การเลือกท่อนพันธุ์ 3) การจัดการน้ำ 4) การเลือกใช้ปุ๋ย 5) การจัดการแปลง 6) การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม โดยการจัดการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากต้องเลือกท่อนพันธุ์มันสะอาด ปราศจากโรค มีคุณภาพ และเหมาะสมกับดิน หากกระบวนการจัดการต่าง ๆ ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้ผลผลิตต่ำลงและไม่มีคุณภาพเพียงพอ สำหรับไร่กาแฟเผชิญปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ปุ๋ย ดิน และการจัดการมอด ส่งผลต่อรสชาติและผลผลิตลดลง
ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เพื่อมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ ในระดับโลก สู่เป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ได้สำเร็จ ภายในปี 2573 เราใช้แนวคิดวัฏจักรชีวภาพ (Ajinomoto Biocycle) สร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสานต่อ โครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจร
เราแสดงจุดยืนให้คนไทย “กินดีมีสุข” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้ชาวไร่มันสำปะหลังทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อยอดสู่ชาวไร่กาแฟให้พร้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง โดยปีนี้ตั้งเป้าให้มีเกษตรกรมันสำปะหลังและกาแฟใน 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก เลย เชียงราย เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1,570 ครัวเรือน”
“ในปีนี้ เรายังคงเดินหน้าเป็นเพื่อนคู่คิดเกษตรไทยด้วยการส่งโมเดล “Farm School” แนะนำทฤษฎีใหม่ในการเพาะปลูกมันสำปะหลังเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรในเชิงลึก แบบ O2O (Online-to-Offline) ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จริงในรูปแบบแปลงทดลอง (Field Test) ที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการแบ่งแปลงทดลองมันสำปะหลังออกเป็น 10 แปลงที่แตกต่างกัน เช่น แปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเกษตร วิธีแก้ไขปัญหาหลักที่เกษตรกรพบเจอ
โดยเปิดให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พร้อมร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการลงพื้นที่ อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์วัดผลความรู้เกษตรกรเพื่อพัฒนาทักษะแก่เกษตรกรไทย สำหรับการสื่อสารทางออนไลน์ มีการใช้โซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, TikTok, LINE เป็นเครื่องมือสำคัญในการครีเอทคอนเทนต์ เทคนิค และองค์ความรู้ให้เข้ากับอินไซต์เกษตรยุคใหม่มากขึ้น
พร้อมเตรียมต่อยอดโมเดล “Farm School” ไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยเน้นย้ำเรื่องกระบวนการหมุนเวียนกาแฟแบบยั่งยืน โดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบกับการรับซื้อในราคาเป็นธรรมเพื่อสร้างวงจรเชิงบวก ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในการสร้างความกินดีมีสุขอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย”
“หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ผลผลิตในไร่ของผมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ได้รับความรู้และความเข้าใจในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ทั้งในด้านการวิเคราะห์ดินก่อนเพาะปลูก การใช้ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดิน และการทดลองปลูกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดและมีคุณภาพสูง โครงการนี้ยังช่วยให้ไร่มันสำปะหลังในอำเภอคลองขลุงปลอดจากโรคใบด่าง 100% เลยครับ” ผู้ใหญ่บ้านธานิน สุราเลิศ ผู้นำกลุ่มเกษตรกร หมู่บ้านหัวชะโงก ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าว