TMI ดีเดย์ ขายคาร์บอนเครดิตในมือ 92,000 ตัน/ปี ของโรงไฟฟ้าชีวภาพ จ.สุพรรณบุรี เดือนตุลาคม 2566 ตามมาตรการบังคับใช้ของ EU เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีผลในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเปิดทางเจรจาขายให้กับกองทุนต่างประเทศทันที หวังดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เล็งขยายธุรกิจขายคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าชีวภาพทั้ง 3 แห่ง พร้อมวางแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 3-5 เมกะวัตต์ ดันมาร์จิ้นสูงและการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง
ธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI เผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนในธุรกิจขายคาร์บอนเครดิต หลังจากโรงไฟฟ้าชีวภาพ แห่งที่ 3 จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกำลังผลิตกว่า 90% ของกำลังการผลิตติดตั้ง นับเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Environmental Research Institute Chulalongkorn University) ประเมินผลตามมาตรฐาน Gold Standard ได้คำนวณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 92,000 ตันต่อปี
TMI ได้กำหนดยุทธศาสตร์แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง ยกเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EU) มีมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ในปี 2050 โดยบรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) กำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Carbon Tax) ที่นำเข้ามาในกลุ่มประเทศ EU เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ TMI ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รอการบังคับใช้ โดยจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศที่เป็นคู่ค้ากับ EU ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อไปชดเชยอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้ความต้องการในการซื้อคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีราคาสูงตามไปด้วย
ปัจจุบัน TMI ได้เปิดรับการเจรจากับกองทุนต่างประเทศ ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ที่มี 92,000 ตัน เบื้องต้นมีหลายกองทุนสนใจและต้องการซื้อ เพราะเป็นข้อกำหนดของกองทุนว่าจะต้องมีการลงทุนในบริษัทที่มีการขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานกองทุนโลก คาดว่าภายในไตรมาส 4/2566 น่าจะเซ็นสัญญาขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาตกลงราคา โดยช่วงนี้จะขายเป็นสัญญาระยะสั้น 1-2 ปี หลังจากนั้นค่อยเซ็นสัญญาระยะยาว
“TMI พร้อมเปิดกว้างที่จะซื้อขายโดยตรงกับบริษัทที่มีความจำเป็นต้องใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อไปชดเชย Carbon TAX หากตกลงราคากันได้ ก็พร้อมขายทันที โดยขอยกตัวอย่าง Carbon TAX ที่สิงคโปร์ ราคาซื้อขายอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/หน่วย ถ้าเราขายได้ที่ราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีรายได้เกือบ 200 ล้าน ส่วนในยุโรป ราคาประมาณ 30-50 ยูโร/หน่วย หากเราขายคาร์บอนเครดิตได้ทั้งหมดตามที่มี จะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ” นายธีระชัย กล่าว
สำหรับในปี 2567 บริษัทฯ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันให้โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัทฯ อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังการผลิต 1.4 เมกะวัตต์ จังหวัดชุมพร และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเมื่อรวมกับโรงที่ 3 จะขายคาร์บอนเครติดได้ประมาณ 13,000-15,000 ตันต่อปี ภายในปลายปี 2567 และเตรียมแผนขยายโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 3-5 เมกะวัตต์