เอสไอเอส ผู้จำหน่ายสินค้าไอที ในไทยจับมือ ซีสแต็ค บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง รุกตลาดในไทย ตั้งเป้าขยายตลาดและเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์คลาวด์ คอมพิวติ้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกด้วยกลยุทธ์ใช้งานง่ายในราคาที่เหมาะสม
สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือเอสไอเอส เปิดเผยว่า บริษัท เอสไอเอสมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรกับบริษัท ซีสแต็ค (ZStack) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย เอสไอเอสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย บริษัทฯจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซีสแต็ค ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทฯที่มีกว่า 10,000 ราย พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาด ด้วยการจัดอบรมและสัมมนาเพื่อให้ความรู้ และการบริการที่ดีสู่ลูกค้า
“เอสไอเอส ได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกเกือบ 200 ราย ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย บริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วประเทศทั้งที่เป็นร้านค้าปลีก บริษัทผู้ค้าที่จำหน่ายเข้าภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการ ผู้รับวางระบบ และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เอสไอเอส จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับซีสแต็ค (ZStack) เติบโตในประเทศไทยได้รวดเร็วอย่างแน่นอน”
“ซีสแต็ค เป็นผลิตภัณฑ์คลาวด์ ที่มีความโดดเด่นด้านการใช้งานง่ายในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาโซลูชันที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า โดยให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะและความต้องการของลูกค้าในตลาดประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาครัฐ โทรคมนาคม การเงิน การขนส่ง พลังงาน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการผลิต เอสไอเอสและซีสแต็คมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสนับสนุนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลของประเทศไทยด้วยการจัดหาซอฟต์แวร์คลาวด์ คอมพิวติ้งระดับองค์กรที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล โดยมุ่งหวังผสานรวมระบบเข้ากับแอพพลิเคชันและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อพัฒนาโซลูชันซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์ที่เหมาะกับลูกค้าองค์กรในประเทศไทย รวมทั้งช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลประสบความสำเร็จ”
สำหรับ แนวโน้มตลาดไอทีในประเทศไทย สมชัย กล่าวว่า จากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนตัวลงจากภาวะเศษฐกิจชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เมื่อรวมกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้า ทำให้สินค้าไอทีสำหรับกลุ่มผู้บริโภค และการใช้จ่ายภาครัฐด้านไอทีหดตัวลงในครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการอนุมัติงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง สำหรับตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยก็ตาม สังเกตได้จากการลงทุนด้านดาต้า เซ็นเตอร์ของบริษัท ชั้นนำระดับโลกด้านไอทีในประเทศไทย
แฟรงค์ จาง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีสแต็ค เปิดเผยว่า บริษัท เซี่ยงไฮ้ หยุนโจว อินฟอร์เมชัน แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (Shanghai Yunzhou Information and Technology Ltd. ) หรือที่รู้จักในชื่อ ซีสแต็ค (ZStack) ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้งที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง มีพนักงานประมาณ 400 คน โดย 70% เป็นทีมวิจัยและพัฒนา และทีมเทคนิค
เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งที่ล้ำสมัยของซีสแต็ค มีผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย ซีสแต็ค ไพรเวท คลาวด์ (ZStack Private Cloud) ซีสแต็ค ไฮบริด คลาวด์ (ZStack Hybrid Cloud) ซีสแต็ค คลาวด์ แมเนจเม้นท์ แพลตฟอร์ม (ซีเอ็มพี) (ZStackCloud Management Platform (CMP) ) ซีสแต็ค คอนเทนเนอร์ โปรดักต์ (ซากุ) ( ZStack Container Product(Zaku)) ซีสแต็ค ไฮ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ซอฟต์แวร์ ดีไฟน์ สตอเรจ (ซีบีเอส) (ZStack High Performance Software Defined Storage(ZBS) ) ซีสแต็ค เอชซีไอ (คิวบ์) ((ZStack HCI(Cube)) และ ซีสแต็ค เซฟ เอ็นเตอร์ไพร์ส (ZStackCephEnterprise)
ด้วยประสิทธิภาพอันโดดเด่นและความสามารถในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ได้รับความสนใจจากองค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ อาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud) ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) เซินเจิ้น แคปิตอล กรุ๊ป (Shenzhen Capital Group) กลายมาเป็นผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน
“เอสไอเอส มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและมีบุลคลากรที่เชี่ยวชาญ ส่วนซีสแต็ค เป็นแพลตฟอร์ม คลาวด์ คอมพิวติ้งเชิงพาณิชย์ที่โดดเด่นด้านความสะดวกในการใช้งานและความน่าเชื่อถือ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจที่ต้องการโซลูชันที่ใช้งานง่ายและปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว เราประสบความสำเร็จในการนำเสนอเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่ล้ำสมัยให้กับผู้ใช้ระดับองค์กรมากกว่า 3,500 รายจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ภายใต้แผนการตลาดโลก 1.0 (Global Market Plan 1.0) และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม”
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญเชิงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในตลาดดิจิทัลที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดในอนาคต บริษัท การ์ทเนอร์ ได้รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สูงถึง 80% และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่า 50 ล้านราย อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งอยู่ที่ประมาณ 60% ซึ่งแซงหน้ายุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านไอทีของไทยจะเกิน 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 โดยค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 15.9% คาดว่าภายในปี 2570 เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีส่วนสนับสนุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยถึง 25% และภายในปี 2573 คาดว่า ส่วนสนับสนุนนี้จะเพิ่มเป็น 30% พร้อมทั้งคาดว่าภายในปี 2568 ขนาดตลาดคลาวด์ในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 23.4%