GPSC เผยกำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 441% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยหลักจากต้นทุนพลังงานลดลง ทำให้มาร์จิ้นโรงไฟฟ้า SPP ดีขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานในส่วนของ IPP ที่เพิ่มขึ้น จากความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงความพร้อมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทันทีเมื่อ กฟผ. เรียกรับ โดยตอกย้ำการบริหารจัดการ และเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินการที่เป็นเลิศ พร้อมเดินหน้าต่อเนื่องในการบริหารต้นทุนการผลิต เน้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน และรักษาระดับมาร์จิ้น ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์พลังงานโลก
วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2566 ของบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,044 ล้านบาท ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากราคาขายเฉลี่ยไฟฟ้าและไอน้ำที่ลดลงตามต้นทุนราคาพลังงาน ประกอบกับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) บางส่วนมีการเรียกรับไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 441% โดยปัจจัยหลักจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของ IPP มีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) ที่ปรับตัวดีขึ้น จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,481 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 479% เป็นผลมาจากมาร์จิ้นการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ที่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงุทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้าเพิ่มขึ้น โดยหลักจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และได้รับเงินปันผลจากบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL)
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,328 ล้านบาท
ในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ผ่านการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นลำดับแรก (merit order) เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมุ่งเน้นการดำเนินงานด้าน synergy เพื่อบริหารจัดการการผลิต การใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้นที่ดี พร้อมทั้งเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและการเตรียมความพร้อมภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก