หัวเว่ย ผลักดันเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัล พลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงาน  เร่งการเติบโตอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลในประเทศไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรม การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน โดยหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในระดับแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้คือ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ผู้ให้บริการชั้นนําระดับโลกด้านโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

ภายในงานสัมมนาธุรกิจ “EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth” ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อพลังงานทางเลือกและศักยภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยมากกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั่วโลกถึง 3-5 เท่า สิ่งนี้บ่งชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ได้อย่างยั่งยืนและชาญฉลาด

     “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลายเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญผ่าน2 แนวทางหลัก อันได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในความเป็นจริง 133 ประเทศใน 116 ภูมิภาคทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon) โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไปสู่การทำให้เป็นคาร์บอนต่ำและบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อุตสาหกรรมดิจิทัล รวมไปถึงเทคโนโลยีไอซีที มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยน่าจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือแค่เพียง 1.97% จากอุตสาหกรรมทั้งหมดทั้งโลก และน่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมพลังงานได้มากถึง 12,000 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2573 ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ถึง 15% – 20%

กรณีตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและโดรนในการช่วยลดปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงได้ถึง 20 เท่าในประเทศสวีเดน และเทคโนโลยีผลิตความร้อนอย่างชาญฉลาดในเมืองฮาร์บิน ประเทศจีน สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้ถึง 12.5%ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสามารถในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก

หนึ่งในประเด็นหลักที่ หัวเว่ย ให้ความสำคัญคือภาคส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทย เนื่องด้วยประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีแสงแดดเกือบทุกวันตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ดร.ชวพล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากอาคารและบ้านเรือนต่างๆ ของประเทศไทยที่มีจำนวน 12 ล้านหลังคาเรือน เปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จากโซลาเซลล์เพียง 70% ก็จะทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้ารองรับได้ทั้งประเทศ สิ่งนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมถึงบทบาทที่สำคัญของหัวเว่ยในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยก่อนหน้านี้ หัวเว่ย ได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ซีคอน สแควร์ เพื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์ขนาด 5 MWp  ซึ่งเป็นหนึ่งในฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ หลังคาโซลาร์ดังกล่าวได้ผลิตไฟฟ้าให้ซีคอนสแควร์ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564 ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หลังคาโซลาร์ขนาด 5 MWp ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 4,000 ตันนับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้งาน ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 5,464 ต้น โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย

หัวเว่ย ไม่เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยในประเทศมาเลเซีย พื้นที่ 60% ของรัฐซาราวักปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกถึง 140 ล้านปี แต่การการตัดไม้ทำลายป่าและการเพาะปลูกได้คุกคามป่าฝนรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหากป่าฝนยังคงไม่มีการป้องกันอาจทำให้รัฐซาราวักหายไปภายในเวลาเพียง 100 ปี

วิธีแก้ไขที่เกิดขึ้น คือ การติดตั้งเซ็นเซอร์เสียง “Guardian” ในป่าฝนเพื่อติดตามกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจจะตัดไม้ทำลายป่าฝนได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงติดตามการใช้เลื่อยยนต์และยานยนต์ พร้อมบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมของสัตว์ โดยข้อมูลเสียงที่ได้จากการติดตั้งเซ็นเซอร์ถูกอัปโหลดไปยังระบบคลาวด์ผ่านเครือข่ายการสื่อสารที่มี AI วิเคราะห์ ก่อนจะส่งไปยังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผ่านแอปพลิเคชันมือถือที่ชื่อว่า RFCx ซึ่งจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถไปยังตำแหน่งที่เกิดภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน อุปกรณ์ดังกล่าวได้ครอบคลุมในโครงการที่มีพื้นที่อนุรักษ์ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตรในรัฐซาราวัก และสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถสกัดกั้นเหตุการณ์ลักลอบตัดไม้ได้หลายครั้ง

“หัวเว่ย พร้อมสนับสนุนและเร่งสร้างความเติบโตในการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบ Smart PV ทั้งในระดับองค์กรและระดับครัวเรือน ซึ่งการผลักดันที่มีศักยภาพจะต้องมีพาร์ทเนอร์ในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยหัวเว่ยได้รับเกียรติจากธนาคารกสิกรไทย ผู้นำด้านโซลูชันด้านการเงินในประเทศไทย สำหรับการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อติดตั้งแผงโซลาเซลล์ โดยหัวเว่ยมีเป้าหมายจะสนับสนุนโครงการจำนวน 30,000 โครงการภายในเวลา 3 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สามารถในการลดก๊าซคาร์บอนได้ถึง 265,000 ตัน

     นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีแผนสนับสนุนพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยให้ได้อีกอย่างน้อย 500 องค์กร เพื่อผลิตบุคลากร 10,000 คน ในด้านเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัล ส่งเสริมความยั่งยืนและเพิ่มมูลค่า GDP ภายในประเทศ โดยหัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านโซลูชันพลังงานสีเขียว พันธมิตรชั้นนำด้านไอซีที และผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัล พร้อมความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อทำให้โลกของเราเป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งนำดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร เพื่อประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างชาญฉลาดเต็มรูปแบบ พร้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา” ดร. ชวพล กล่าวสรุป

RELATED ARTICLE

Scroll to Top