“สกาย” ผู้ให้บริการระบบ Biometric ภายในสนามบิน ด้วย One-ID เพียงใช้ใบหน้าของนักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางผ่านทุกจุดเช็คอินได้อย่างสะดวกสบาย ที่ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของท่าอากาศยานไทย (AOT) โดยเริ่มให้บริการกับผู้โดยสารภายในประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และจะพร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป นับเป็นอีกพันธกิจที่ช่วยผลักดันสนามบินไทยสู่สนามบินชั้นนำระดับ World Class และตอบโจทย์การเข้าสู่ Touchless Society
สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ สกาย กรุ๊ป (SKY Group) กล่าวว่า บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการบินชั้นนำของประเทศไทย ล่าสุดนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) หรือ ระบบข้อมูลชีวมาตร คือการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลโดยใช้การสแกนใบหน้าเพื่อเข้าสู่ระบบสนามบิน ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้โดยสารในสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เทคโนโลยี Biometrics นี้จะเริ่มให้บริการกับผู้โดยสารภายในประเทศก่อนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และพร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
ปัจจุบัน สนามบินชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มนำเอาระบบ Biometric นี้ มาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เช่น สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ สนามบินดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สนามบินฮาร์ทสฟิลด์-แจ็คสัน เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา สนามบินซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และสนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยนับว่าอยู่ในกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลกที่นำระบบนี้มาใช้ภายในสนามบินเช่นกัน
การนำ Biometric มาใช้ในสนามบินสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดขั้นตอนต่าง ๆ เพิ่มความรวดเร็ว นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องถือพาสปอร์ตและ Boarding Pass เพื่อยืนยันตัวตนแก่เจ้าหน้าที่ ระบบ Biometric ที่พัฒนาขึ้นมานี้ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ใบหน้าของตัวเองเป็นทางผ่านได้เลย ซึ่งนอกจากความรวดเร็วแล้วยังส่งผลโดยตรงมาในส่วนความสะอาด (Hygienic) เพราะจะช่วยลดการสัมผัสภายในสนามบิน เนื่องจากอย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าสนามบินเป็นแหล่งรวมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศไทยถึง 100 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีนักเดินทางเข้าออกประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการมีระบบนี้เข้ามา มั่นใจว่าจะช่วยเจ้าหน้าที่ให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้นด้วย
ขั้นตอนการทำงานของ ระบบ Biometric เพื่อใช้ใบหน้าเป็น One-ID เริ่มจากผู้โดยสารแสดงบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต พร้อมกับสแกนหน้าเพื่อยืนยันตัวตนที่ระบบออกตั๋วโดยสารที่เคาน์เตอร์ (CUTE: Common Use Terminal Equipment) หรือระบบออกตั๋วโดยสารด้วยตัวเอง (CUSS: Common Use Self-check in System) หลังจากยืนยันตัวตนเสร็จแล้ว ระบบจะสร้าง Travel Token ของผู้โดยสารแต่ละคนขึ้นมา ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถสแกนใบหน้าผ่านเข้าไปยังพื้นที่ภายในสนามบินจนกระทั่งผ่าน Boarding Gate ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องแสดงเอกสารต่างๆ อีก
สกายฯ พัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางภาคพื้นดิน ได้พัฒนาระบบบริการผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องหรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) มาใช้ใน สนามบินภายในประเทศไทย โดยระบบ CUPPS ที่ปัจจุบันดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยประกอบไปด้วย CUTE (Common Use Terminal Equipment) ระบบออกตั๋วโดยสารที่เคาน์เตอร์, CUSS (Common Use Self-check in System) ระบบออกตั๋วโดยสารด้วยตัวเอง, CUBD (Common Use Bag Drop) ระบบโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติด้วยตัวเอง, PVS (Passenger Validation System) ระบบการคัดกรองผู้โดยสาร, SBG (Self-Boarding Gate) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ
ล่าสุด คือ ระบบ Biometric หรือ One-ID ซึ่งทั้ง 6 ระบบ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เรามั่นใจว่าจะสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Touchless Society ตั้งแต่ก้าวแรกที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูด่านหน้าก่อนเดินทางเข้าประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกถึงความสะดวกสบายในการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงเป้าหมายที่สกายช่วยในการพัฒนาประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก New Normal สู่ Now Normal เพื่อให้ผู้เดินทางได้เดินทางอย่างปลอดภัย และสะดวกสบาย (Save, Secure and Convenience)