สกนช.สรุปสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประจำปีงบประมาณ 2566 (เดือนตุลาคม 2565 – เดือนกันยายน 2566) มั่นใจสภาพคล่องเพียงพอ

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) สรุปผลการดำเนินงานคาดปี 2566 ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องดีขึ้น พร้อมบริหารจัดการเงินล็อตใหม่ที่เหลือวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทช่วยรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานตรึงราคาดีเซล 30 บาท/ลิตร และก๊าซ LPG ตามมติคณะรัฐมนตรี

  วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบ 1 ปีตามปีงบประมาณ (ต.ค.2565-ก.ย.2566) ว่า
กองทุนน้ำมันฯ ได้ดำเนินการตามบทบาทในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในช่วงวิกฤตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-ธ.ค.2565) สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยติดลบสูงสุดถึง 130,000 ล้านบาท ก็ทยอยลดลง รัฐบาลมีมาตรการนำกลไกลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมัน และกองทุนทยอยลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาท/ลิตร มาเป็น 32 บาท/ลิตร จนปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 โดยเบื้องต้นใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตร และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาราคาขายปลีก

การออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ได้มีส่วนช่วยทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสถานะการกู้ยืมเงินของ สกนช. ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช. เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 55,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมที่เบิกได้อีก 50,333 ล้านบาท

ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 ได้ปรับขึ้นราคาจาก 408 บาท /ถัง 15 กก.เป็น 423 บาท/ถัง 15 กก.โดยมีผลวันที่ 1 มี.ค.2566 โดยให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ณ วันที่ 1 ต.ค.2566 ติดลบ 65,732 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 20,806 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,926 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
ของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93.39 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 4 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงานจาก 9 หน่วยงาน และคะแนนเฉลี่ยปีนี้จัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของหน่วยงานสังกัดองค์การมหาชนจาก 59 หน่วยงาน โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดี

ทิศทางการดำเนินงานปี 2567 คาดว่าประมาณการราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกจะอยู่ที่ 115 -130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาเชื้อเพลิงยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลัก คือ การปรับลดอัตราการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัส ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จะยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสมโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญมีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และคาดว่าจะสามารถนำวงเงินกู้ยืมที่ยังเหลืออีก 50,333 ล้านบาท มาช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศได้ตามวัตถุประสงค์ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้

     นอกจากนี้ สกนช. จะทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ปี (พ.ศ.2568-2572) เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงว่า หลักเกณฑ์ระดับราคาที่เหมาะสมของเชื้อเพลิงควรอยู่ที่เท่าใดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

ส่วนยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้ขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปครั้งแรก 2 ปีจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 นั้น จะต้องพิจารณาทิศทางของราคาเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้งว่าจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ยังมีระยะเวลาอีกช่วงที่สามารถต่ออายุไปได้อีกครั้งจนถึงปี 2569 ซึ่งเป็นเรื่องที่ สกนช. จะต้องนำเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

RELATED ARTICLE

Scroll to Top