บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังควบรวมบริษัทสำเร็จตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 ชูแนวคิด “ชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together) 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้” ถือเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ โดยมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท ลูกค้ารวมกัน 55 ล้านราย คือ ทรูมูฟ เอช 33.8 ล้านเลขหมาย และ ดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย ซึ่งยังทำตลาดแบรนด์ ดีแทค-ทรู แยกกัน 3 ปี ตามเงื่อนไข กสทช.
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปิดตัวบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้ จะเป็นการนำสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งทรูและดีแทคมาผนึกรวมกัน (Best of Both) เพื่อขยายขนาด (Scale) และการส่งมอบคุณค่า (Value Creation) ที่มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มขีดความแข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งจากองค์กรไทย คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง เทเลนอร์ กรุ๊ป
บริษัทใหม่นี้ จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจะนำสู่สมดุลความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการแข่งขัน และจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
“ทรู คอร์ปอเรชั่น” ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ทอัปซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยบริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท มีการจัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น ซึ่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญที่พัฒนาจากเทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติ
ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว บริษัทใหม่มุ่งสู่ผู้นำด้านโครงข่ายอย่างแท้จริง โดยจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามรายงานโดยการวิจัยของ GSMA คาดว่า 5G ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของ GDP ในประเทศไทยที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) ในปี 2573
ทรู คอร์ปอเรชั่น จะให้บริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “ทรู” และ “ดีแทค” โดยลูกค้าสามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ เป็นก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย โดยไม่ขัดต่อประกาศการห้ามรวมคลื่นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางมี.ค.นี้
ทรู คอร์ปอเรชั่น จะเดินหน้าด้วย 7 กลุยทธ์หลัก คือ
1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader )
การผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ ทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์มาตรฐานสากล ระบบคลาวด์ ไม่เพียงแต่จะสร้างประสบการณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ยอดเยี่ยม แต่จะมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆเพื่อคนไทย ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core)
โดยนอกจากการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแล้ว บริษัทใหม่จะเดินหน้าขยายธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion ) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น
3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand)
การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น ทั้งการนำเสนอสินค้าบริการ การมอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนช่องทางการเข้าถึง O2O ผ่านการผนึกพลังทั้งออฟไลน์ในเครือทั่วประเทศและออนไลน์แบบ 24 ชม.ทำให้ลูกค้าจะได้สัมผัสสุดยอดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และไร้รอยต่อในทุกจุดบริการ รวมทั้งยกระดับบริการหลังการขายที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น
4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย (Enhance Smart Life for Customers)
ทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะ ยกระดับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะไม่จำกัดเฉพาะชีวิตคนเมืองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสื่อสารดิจิทัลที่กว้างไกลและครอบคลุมยิ่งขึ้น
5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers)
บริษัทใหม่นี้ จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร สาธารณสุข และค้าปลีก
6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work)
บริษัทใหม่จะเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่ง ที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก เป็นองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย ผสานความแตกต่าง ควบคู่กับการสร้างคนให้มีจิตวิญญาณเป็นเจ้าของกิจการ เป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจเนอเรชัน พร้อมกับมีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being)
7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value)
โดยจะมีการมุ่งเน้นการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับทุกชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล อีกด้วย