บริษัท เวียตเจ็ท จอยท์ สต๊อค จำกัด รายงานผลประกอบการประจำครึ่งแรกของปี 2567 ผลประกอบการของเวียตเจ็ทเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 โดยสายการบินฯ ได้ขนส่งผู้โดยสารกว่า 13.1 ล้านคนด้วยเที่ยวบินคุณภาพสูงถึง 70,154 เที่ยวบิน ภายในครึ่งแรกของปี 2567
เวียตเจ็ทรายงานรายได้จากการขนส่งทางอากาศประจำไตรมาส 2 ของปี 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 15.128 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกำไรก่อนหักภาษี 517,000 ล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 20.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 23 และร้อยละ 683 ตามลำดับ
ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 รายได้จากการขนส่งทางอากาศมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 32.893 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 31 โดยกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 1.174 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 46.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 690
รายได้รวมของเวียตเจ็ทในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 34.016 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยกำไรก่อนหักภาษีรวมอยู่ที่ 1.311 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 และร้อยละ 433 ตามลำดับ เวียตเจ็ททำกำไรทะลุเป้าที่วางไว้ในครึ่งแรกของปี 2567 กว่าร้อยละ 21
รายงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 สินทรัพย์รวมของเวียตเจ็ทมีมูลค่ามากกว่า 91.755 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 3.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 2 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 5 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.1 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 163.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ครึ่งแรกของปี 2567 เวียตเจ็ทได้ชำระภาษีและค่าธรรมเนียมทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งสิ้น 3.687 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 146.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินกว่า 149 เส้นทางทั่วทั้งเวียดนามและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นเส้นทางบินภายในประเทศ 38 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 111 เส้นทาง
สายการบินฯ ได้เปิดตัวเส้นทางบินใหม่เชื่อมต่อระหว่างโฮจิมินห์ซิตี้และซีอาน ฟู้โกว๊กและไถจง ฟู้โกว๊กและเกาสง รวมถึงโฮจิมินห์ซิตี้และเวียงจันทน์
นอกจากนี้ สายการบินฯ ได้เปิดตัวเส้นทางบินระหว่าง ญาจาง และ แทกู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะเริ่มให้บริการในเดือนตุลาคม 2567 เน้นย้ำตำแหน่งสายการบินรายใหญ่ที่สุดในแง่ของบริการบนเส้นทางบินระหว่างเวียดนามและเกาหลีใต้ หลังจากที่สายการบินฯ ได้ให้บริการผู้โดยสารเกือบ 10 ล้านคนบนเส้นทางบินมากกว่า 37 เส้นทาง ระหว่างสองประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี
เวียตเจ็ท ได้ขยายบริการเที่ยวบินบนเส้นทางบินข้ามทวีประหว่างเอเชียและออสเตรเลียด้วยเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทาง จาก ฮานอย สู่ เมลเบิร์น และซิดนีย์ ส่งผลให้สายการบินฯ มีเที่ยวบินระหว่างเวียดนามและออสเตรเลียรวม 7 เที่ยวบิน การขยายเส้นทางบินดังกล่าวยกระดับการเชื่อมต่อ การเดินทาง การท่องเที่ยว การลงทุน การค้า การศึกษาในต่างประเทศ และการเยี่ยมเยียมครอบครัว ขณะนี้ เวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินระหว่างเวียดนามและออสเตรเลียมากที่สุดถึง 58 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
เสริมทัพฝูงบินด้วยอากาศยานที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยฝูงบินที่ประกอบด้วยเครื่องบินกว่า 105 ลำ (รวมเครื่องบินของเวียตเจ็ทไทยแลนด์) และจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เวียตเจ็ทมุ่งขยายเครือข่ายเส้นทางบินข้ามทวีปอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเสริมทัพฝูงบินด้วยเครื่องบินลำใหม่ที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เวียตเจ็ท มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ในการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้ได้มาตรฐานสากล Vietjet Aviation Academy (VJAA) หรือ สถาบันฝึกอบรมการบินเวียตเจ็ทได้เป็นพันธมิตรการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 VJAA ได้ฝึกอบรมนักศึกษาไปแล้วกว่า 43,000 คน ผ่านหลักสูตร 3,898 หลักสูตร รวมถึงหลักสูตรนักบินและวิศวกรอากาศยาน (CRS) นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้สร้างห้องนักบินจำลองแห่งที่ 3 เน้นย้ำตำแหน่งศูนย์ฝึกอบรมนักบินระดับนานาชาติชั้นนำในภูมิภาค
เวียตเจ็ทเปิดรับนักศึกษาฝึกงานจำนวนมากเพื่อเข้าร่วมอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานระดับนานาชาติ พร้อมทั้งให้ความรู้และมอบประสบการณ์จริงแก่ผู้เข้าร่วม นอกจากนี้ เวียตเจ็ทได้จัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพในมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อจุดประกายนักศึกษา พร้อมมอบโอกาสในการร่วมงานกับสายการบินฯ ในอนาคต
เวียตเจ็ท ริเริ่มการวิจัยด้านการพัฒนาและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นสายการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมและกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน
ล่าสุด เวียตเจ็ทได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับแอร์บัสเพื่อสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นแอร์บัส A330neo จำนวน 20 ลำ มูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ งาน Farnborough International Airshow เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับแผนขยายเครือข่ายเส้นทางบินรอบโลก
ปี 2567 ถือเป็นปีทองและเป็นก้าวสำคัญของเวียตเจ็ทสู่การพัฒนาอย่างครอบคลุม ทั้งเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศที่ขยายอย่างต่อเนื่อง ความพร้อมในการตอบสนองความต้องการเดินทางภายในประเทศ และความมุ่งมั่นในการให้บริการบนเส้นทางบินระหว่างประเทศที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคต