บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) โชว์ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เติบโต 38.3% ฝ่ากระแสปัจจัยลบรอบทิศ จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาคส่งออกซบ และค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศ/เรือหดตัวแรง ขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ “Logistics and Beyond” รับสัญญาณบวกจากอานิสงส์จีนเปิดประเทศ คาดหนุนรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน พุ่งชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป
ทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 149.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.4 ล้านบาท หรือเติบโต 38.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า แม้ว่าเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวกว่า 4.5% และค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเลที่หดตัวกว่า 45% และ 80% ตามลำดับ จากระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 1/2565
“เราสามารถรักษาอัตราเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 8 ไตรมาส และสร้างนิวไฮหลายครั้งท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งโดยทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงโลว์ซีซัน ด้านปริมาณการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ และถ้าเทียบกับไตรมาส 4/2565 ซึ่งมีตัวเลขนิวไฮของผลกำไร 427.2 ล้านบาท จากรายการพิเศษกำไรที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการ (one time) เป็นจำนวน 321.7 ล้านบาท แต่ถ้าหักรายการพิเศษดังกล่าวออก จะเห็นว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัทฯ ในไตรมาสนั้น จะเหลืออยู่ที่ 105.5 ล้านบาท เท่ากับว่ากำไรไตรมาสล่าสุด 149.3 ล้านบาท เติบโตกว่าไตรมาส 4/2565กว่า 41.5%” ทิพย์กล่าว
ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้บริษัทฯ เติบโตฝ่าปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ เกิดจากการวาง Business Model ที่ไม่จำกัดเฉพาะการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะด้าน แต่ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Logistics and Beyond” รวมถึงพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมและมีความหลากหลาย ไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นหลัก
ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ ได้แสดงให้เห็นถึงภาพรวมที่ยังคงมีการเติบโต แม้ว่าค่าระวางขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศและทางทะเลจะปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ส่งผลกระทบอย่างจำกัด เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ของบริษัทฯ ที่ลงทุนไว้ ได้แก่ ธุรกิจการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินทั่วเอเชีย (ANI) ธุรกิจการให้บริการภาคพื้นสนามบินและผู้โดยสาร (AOTGA) สามารถสร้างผลดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ผลักดันให้กำไรสุทธิยังเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2 ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2566 นายทิพย์ กล่าวว่า จะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านปริมาณการขนส่งที่จะปรับเพิ่มขึ้นหลังพ้นช่วงโลว์ซีซัน อีกทั้งการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศมีความต้องการพื้นที่ระวางขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ผลักดันให้อัตราค่าระวางปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลไกตลาด
อีกทั้งธุรกิจการให้บริการภาคพื้นสนามบินและผู้โดยสาร (AOTGA) ที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุน จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยจะมีจำนวน 4.65 ล้านคน
ขณะที่ธุรกิจการให้บริการคลังสินค้าในท่าอากาศยานที่สนามบินดอนเมืองของทางบริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากการขยายเส้นทางการบิน การเพิ่มปริมาณความถี่ของเที่ยวบินเส้นทางจีน-ไทย รวมถึงการให้บริการขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนมาไทยเพื่อต่อไปยังประเทศที่ 3 จะกลับมามีปริมาณการขนส่งเพิ่มมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ต้องแบกภาระต้นทุนมาตลอดระยะ 3 ปีช่วงสถานการณ์โควิด-19
“เราศึกษาโอกาสใหม่ๆ ไว้แล้ว มีการแตกบริษัทที่เชี่ยวชาญออกมารองรับปัจจัยบวกเหล่านี้ ล่าสุดได้ยื่นไฟลิ่งต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอนำบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI ธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในภูมิภาค เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าปลายปีนี้ ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายการบินระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เป็นกลไกสำคัญของบริษัทฯ สำหรับการเติบโตทั้งในเรื่องเครือข่ายและการขยายพื้นที่ในการทำธุรกิจตามยุทธศาสตร์ Beyond Boundary สู่เป้าหมายการเป็นบริษัทระดับเอเชีย สร้างรายได้สัดส่วน 80% จากนอกประเทศ” ทิพย์ กล่าว