เวียตเจ็ทไทยแลนด์ จับมือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทย พร้อมยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล0

     เวียตเจ็ทไทยแลนด์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันผลักดันโครงการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพด้านการบินในประเทศไทยให้มีคุณภาพ ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการบินที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
 
     ความสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ คือ การพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมร่วมกัน การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมฝึกงานกับสายการบินฯ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ตลอดจนการใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ฝึกจำลองสถานการณ์การบิน และเครื่องมือฝึกอบรมที่ใช้ในการพัฒนาทักษะของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มพูนทักษะเชิงปฏิบัติให้แก่นักศึกษา และเตรียมความพร้อมเข้าสู่สายงานด้านการบินอย่างมีประสิทธิภาพ

     Alvin Liaw Tse Hou รองประธานฝ่ายมาตรฐานความปลอดภัยและผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัย คุณภาพและมาตรฐานองค์กร เวียตเจ็ทไทยแลนด์ กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่มีความหมายอย่างยิ่งในการวางรากฐานเพื่อพัฒนากำลังคนคุณภาพให้แก่อุตสาหกรรมการบินของไทย ในยุคที่เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความรู้เฉพาะทางและทักษะเชิงลึกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่บุคลากรในภาคการบินต้องมี การได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่เพียงเพื่อเตรียมพร้อมสู่ความท้าทายในอนาคต แต่ยังสะท้อนถึงความตั้งใจของเวียตเจ็ทไทยแลนด์ในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

 
    ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเวียตเจ็ทไทยแลนด์ ในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรภาคการบินภายในประเทศ โดยเน้นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
     มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยังคงเดินหน้าตอกย้ำพันธกิจในการเตรียมบัณฑิตให้พร้อมทำงานในอุตสาหกรรมการบินอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ระดับสากล
 
     ความร่วมมือนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการพัฒนากำลังคนอย่างมีคุณภาพในสาขาการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศ และยังสามารถเป็นต้นแบบของการจับมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน ที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลในอนาคตเพื่อยกระดับศักยภาพแรงงานไทยในระยะยาว

RELATED ARTICLE

Scroll to Top