บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 มีรายได้รวม5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 11.83% พร้อมทำกำไรสุทธิ 534.45 ล้านบาท โตทะยานกว่า 227% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมเดินหน้าวางกลยุทธ์เชิงรุกตลอดไตรมาส 2 – 4 ผ่านการใช้ศักยภาพที่โดดเด่น ให้บริการครอบคลุมเพื่อคนไทย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการค้าออนไลน์ยังคงมีการขยายตัวทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซมีความคึกคัก กลุ่มค้าปลีกยังมีแนวโน้มเติบโต และทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ของไปรษณีย์ไทยมีรายได้รวมอยู่ที่ 5,945.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.83% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 อีกทั้งยังสามารถทำกำไรสุทธิ 534.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 227.72% ซึ่งแสดงถึงสัญญาณบวกจากมาตรการบริหารต้นทุนและรายได้ที่ดีขึ้น
ธุรกิจที่เติบโตเด่นชัด ได้แก่ กลุ่มบริการไปรษณีย์ในประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้น 20.17% กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 13.15% ขณะที่ปริมาณชิ้นงานไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2567 ราว 7.48% ซึ่งบริการที่โดดเด่นยังคงเป็นบริการส่งด่วน EMS ที่เพิ่มขึ้น 5.94% จากมาตรฐานการให้บริการและมีโซลูชันที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจ – ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม “แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะส่งสัญญาณเชิงบวกกับไปรษณีย์ไทย
หนึ่งในความเสี่ยงด้านนโยบายระหว่างประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ การกลับมาของนโยบายทางการค้าในรูปแบบ นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff Policy) ซึ่งส่งผลต่อการขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลก เราเห็นว่า เป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเจรจาต่อรองแบบนี้ อาจไม่เกิดกับทุกประเทศ แต่อาจเกิดผลกระทบกับหลายภาคส่วน เราจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็ก ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างไร พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานนโยบายดังกล่าว และข้อยกเว้นภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ (De Minimis Exemption) กับการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา
เราวางกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต รองรับความเสี่ยงกลุ่มธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ และสร้างระบบนิเวศใน SME ไทย ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME และ e-Commerce ที่อาจได้รับผลกระทบด้านการส่งออก อาทิ การเสริมสร้างความร่วมมือกับสหภาพสากลไปรษณีย์ การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน ASEANPOST เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยไปรษณีย์ไทยมีความโดดเด่นจากเส้นทางการขนส่งที่หลากหลาย ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางภาคพื้น ทางราง และทางเรือ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งไปยังประเทศปลายทางต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น
ภาพรวมการให้บริการส่งระหว่างประเทศของไปรษณีย์ไทย ครอบคลุม 205 ปลายทาง 193 ประเทศ สามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อาจยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่เกาะ ภูเขา และปลายทางห่างไกล เช่น อียิปต์ เอสโตเนีย อาร์เจนตินา และประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ กวม หมู่เกาะมารีนา เป็นต้น”
แม้จะมีปัจจัยหลายด้านที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทย แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 – 4 นี้ ยังคงมีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจอย่างรอบด้าน โดยจะยังคงใช้จุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่
· บริการส่งด่วน EMS ที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับ B2C และ C2C โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ต้องการความรวดเร็วและเชื่อถือได้ ด้วยเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศที่สามารถให้บริการถึงปลายทางได้แม้ในพื้นที่ห่างไกล บวกกับมาตรฐานการส่งด่วนที่ผู้ใช้บริการไว้วางใจจากโซลูชันที่หลากหลายรองรับกิจกรรมทางธุรกิจได้ อย่างครอบคลุม ทำให้ในปี 2568 ปริมาณการส่งด้วยบริการ EMS ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· บริการขนส่งที่หลากหลายครอบคลุมกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างครบวงจร ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งการส่งสิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยาและเวชภัณฑ์ นมแม่ สินค้าทางการเกษตร ปลาสวยงาม สินค้าอัตลักษณ์ไทย สินค้าไลฟ์สไตล์ ฯลฯ รวมทั้งยังมีการให้บริการทั้งในรูปแบบ B2B , B2C , C2C ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจเติบโต
· บริการทางการเงิน โดยไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกับพันธมิตรด้านการเงินในการเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ในการให้บริการด้านการเงินครบวงจร
· การให้บริการกลุ่มค้าปลีก เน้นดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Omni-Channel เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในทุกชั้นตอน ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล การเลือกซื้อสินค้า การชำระเงิน การจัดส่งสินค้าไปจนถึงการบริการหลังการขาย โดยประเภทสินค้าที่มีให้บริการ คือ สินค้าไปรษณีย์ประเภทกล่องซองสำหรับผู้ประกอบการ และเกษตรกรสินค้าไปรษณีย์ประเภทสินค้าที่ระลึก และสินค้า House Brand ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เช่น กาแฟ น้ำดื่ม ข้าวสาร นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม ThailandPostMart ตัวท็อปใกล้ไกลส่งให้ถึงมือที่คัดสรรสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าดีจากทั่วประเทศมาจำหน่ายและส่งตรงถึงผู้บริโภคมากกว่า 20,000 รายการ
· การขยายบริการรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สนับสนุนภาคธุรกิจไทยที่มีศักยภาพก้าวสู่ตลาดโลก โดยการสร้างพันธมิตรในกลุ่มแพลตฟอร์ม eBay และ Amazon FBA ให้บริการคลังสินค้าสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ต้องการขนส่งข้ามพรมแดน อีกทั้งยังรวมกับการไปรษณีย์เวียดนาม และการไปรษณีย์อินโดนีเซีย พร้อมด้วย ที่ปรึกษาพิเศษ PayTech จากเวียดนาม และ Kota จากสิงคโปร์ จัดตั้ง “Regional ASEAN Post Alliance” หรือ RAPA เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งในภาคขนส่งและไปรษณีย์ของภูมิภาคอาเซียน เชื่อมโยงเศรษฐกิจข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาพันธมิตรอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การสร้างมาตรฐานโลจิสติกส์ร่วมกัน การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการทำธุรกรรม และการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนไปสู่ระดับโลก
· กลุ่มธุรกิจ Post Next เดินหน้าสู่ Information Logistics ในไตรมาส 3/2568 บริการ “Prompt Post”จะมีการอัปเกรดฟีเจอร์เพิ่มขึ้น คือ Digital Postbox การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยและเป็นส่วนบุคคล Passport Tracking การติดตามสถานะพาสปอร์ต Prompt Pass เชื่อมข้อมูลภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมต่างๆ ทางออนไลน์ด้วยความรวดเร็ว Prompt Vote ระบบการลงคะแนนเสียงออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่ง่าย ปลอดภัย และมีระบบบันทึกผลการลงคะแนนที่น่าเชื่อถือ
· เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันกำลังขยายการให้บริการเครือข่ายพี่ไปรฯ Postman Cloud ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา เช่น ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลาจำนวน 4.17 ล้านครัวเรือน ตั้งแต่ 21 เม.ย. – 15 ก.ค. 2568
ยุคที่ทุกธุรกิจต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปรษณีย์ไทยถือเป็นผู้ให้บริการรายสำคัญในตลาดที่กำหนดให้ “ความยั่งยืน” เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรอย่างแท้จริงภายใต้วิสัยทัศน์ “ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์” โดยมีเป้าหมายใหญ่ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และก้าวสู่ Net Zero Emissions ในปี 2593
ล่าสุด ยังได้เริ่มทยอยเปลี่ยนยานยนต์เป็นไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยจะใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านำจ่ายถึง 9,000 คันภายในปี 2572 และแทนที่รถยนต์นำจ่ายทั้งหมดกว่า 1,000 คัน ทั่วประเทศ ให้กลายเป็นระบบ EV 85% ภายในปี 2573 และครบทั้งหมด 100% ภายในปี 2583 พร้อมเริ่มติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR PV ROOFTOP) ณ ที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 10 แห่งในปี 2568 และมีแผนขยายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศรวม 120 แห่งภายในปี 2572 เพื่อใช้พลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม