ส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กุญแจสำคัญสู่การป้องกันมะเร็งลำไส้

     ความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดชีวิตจะพบใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย คือประมาณ 1 ต่อ 25 คน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความเสี่ยงอื่น ๆ ของผู้ป่วย เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันจึงมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพื่อให้สามารถตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
พันโทหญิงแพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาเวชธานี อธิบายว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นจากติ่งเนื้อ (Polyp) บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ โดยปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในระยะแรก แต่หากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น การขับถ่ายมีเลือดหรือมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง
ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 2 ประเภท
ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล ได้แก่
  • อายุ ในอดีตพบว่ามากกว่า 90% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ มีอายุมากกว่า 50 ปี และอายุเฉลี่ยที่พบคือ 60 – 65 ปี แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ อุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดตามรายงานคือ 18 ปี
  • ประวัติในครอบครัวและถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่า 20% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ มีการศึกษาพบว่า ติ่งเนื้อบางชนิดสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่หากมีการตรวจพบและรักษาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นติ่งเนื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้
ปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม
  • ภาวะน้ำหนักเกินและขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค ขณะเดียวกันการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ลำไส้มีการทำงานและเคลื่อนตัวมากขึ้น ผลในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • อาหาร ในอาหารบางประเภทจะมีสารก่อมะเร็งซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แหนม หมูยอ ลูกชิ้น กุนเชียง และเนื้อแดงที่ถูกประกอบอาหารในความร้อนสูงจนเกรียมแบบปิ้งย่าง
  • การสูบบุหรี่ พบว่า 12%ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้น
     ในปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่าติ่งเนื้อนั้นจะมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว นอกจากนี้ยังใช้ร่วมกับเทคนิคการประเมินสีพื้นผิวและเส้นเลือดของติ่งเนื้อ ด้วยแสงชนิดพิเศษที่เรียกว่า Magnified digital chromoendoscopy ทำให้สามารถบอกได้ว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นติ่งเนื้อชนิดใด กลายเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง มีการลุกลามลงเนื้อเยื่อชั้นลึกแล้วหรือไม่ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับติ่งเนื้อนั้น ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจพบติ่งเนื้อจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์ยังสามารถทำการตัดติ่งเนื้อออก ก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคตได้อีกด้วย
    นอกจากนี้ ด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า Endoscopic Submucosal Dissection หรือ ESD ทำให้สามารถตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ ที่แม้บางส่วนมีการกลายเป็นมะเร็งแล้ว แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึกและต่อมน้ำเหลือง ออกได้ผ่านทางกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดหน้าท้อง และในบางรายไม่ต้องยกลำไส้เปิดทางหน้าท้อง (colostomy)โดยไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ หลังจากการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วผู้ป่วยควรเข้ารับการส่อง กล้องติดตามอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย
  • ถ่ายท้องลำไส้สะอาดก่อนถึงวันส่องกล้องเพื่อให้แพทย์เห็นภาพลำไส้ได้ชัดเจนที่สุด โดยใช้วิธีดื่มของเหลวที่ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานและถ่ายง่าย หรืออาจใช้วิธีสวนล้างลำไส้
  • งดกินยาบางประเภทตามที่แพทย์สั่ง ก่อนถึงวันเข้ารับการส่องกล้อง
  • ก่อนวันนัดตรวจ 2 วัน ควรทานแต่อาหารเหลวที่ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ชนิดใส
  • หลังการตรวจส่องกล้อง ผู้ป่วยควรนอนพักนิ่ง ๆ 1 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ เพราะอาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม โดยอาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรมีญาติพากลับบ้าน
     การส่องกล้องเพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ เปรียบเสมือนการตรวจเช็กร่างกาย โดยไม่ต้องรอให้เกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ และควรเลือกตรวจกับแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่แม่นยำ พร้อมกันนี้ ควรลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการปิ้งย่างมีเขม่าไหม้, อาหารแช่แข็ง, หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น เนื้อแดงและไส้กรอก เป็นต้น

RELATED ARTICLE

Scroll to Top