ปัญหาการกินอาหารพบได้บ่อยในทารกและเด็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี เป็นปัญหาใหญ่ของคุณแม่หลายคนที่พยายามหาวิธีทำให้ลูกกินอาหาร เพื่อให้ลูกเติบโต แข็งแรง และมีพัฒนาการดี ปัญหาการกินในเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ ปัญหาเด็กเลือกกินอาหาร กินน้อย และพฤติกรรมการกินไม่เหมาะสม รศ.พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร นายกสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ปัญหาการกินในเด็กไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไข ขอเพียงคุณแม่ใจเย็นและฝึกลูกให้มีวินัยในการกินอาหาร
ปัญหาการกินอาหารในทารกและเด็กเล็กที่พบบ่อย ได้แก่
- เด็กเลือกกิน
เด็กกลุ่มนี้กินอาหารได้น้อยชนิดกว่าเด็กปกติ เด็กจะเลือกกินอาหารบางชนิด และปฏิเสธอาหารบางชนิด เพราะไม่ชอบรสชาติ ความหยาบ กลิ่น หรือรูปร่างของอาหารนั้นๆ แต่กินอาหารที่ชอบได้ดี ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่เด็กไม่ยอมกิน
- เด็กกินน้อย
เด็กกลุ่มนี้มักสนใจการเล่นหรือพูดคุยมากกว่าการกิน จึงกินอาหารปริมาณน้อย หรือกินเพียงแค่ไม่กี่คำก็หยุด ทำให้เด็กตัวเล็กเพราะไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ
แก้ปัญหาลูกกินยาก ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กและฝึกวินัยการกินอาหาร
“ช่วงอายุ 6 -12 เดือน เป็นเวลาที่สำคัญในการฝึกลูกให้มีพัฒนาการด้านการกินอาหารที่ถูกต้อง โดยทารกอายุ 6 เดือนแรกควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียว และเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ทารกควรได้รับอาหารอื่นหรือที่เรียกว่าอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอกับการเจริญเติบโต คุ้นเคยกับรสชาติและลักษณะอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นการสร้างพฤติกรรมการกินที่ดี ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่สำคัญในการฝึกวินัยการกินอาหารให้ลูก ถ้าคุณแม่ไม่ฝึกให้ลูกเริ่มกินอาหารตามวัยและสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ลูกมีปัญหาการกินในอนาคต” รศ.พญ.สุภาพรรณ กล่าว
การฝึกลูกให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
- ให้ลูกกินอาหารอย่างเหมาะสมตามวัยและพัฒนาการ คือ เมื่อลูกอายุ 6 เดือน ควรให้ลูกกินอาหารอื่นนอกเหนือจากนม โดยป้อนอาหารบดละเอียด เช่น ข้าว ไข่ เนื้อสัตว์หรือตับ และผักบดละเอียด 1 มื้อ แล้วค่อยๆ เพิ่มชนิด ปริมาณและความหยาบของอาหารเมื่อลูกอายุมากขึ้น และให้ลูกกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุ 12 เดือน นอกจากนี้ควรฝึกให้ลูกหัดกินอาหารเองโดยใช้ช้อนและเลิกดูดนมจากขวดเมื่ออายุ 1-1 ½ ปี
- ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่บังคับ เมื่อเริ่มอาหารชนิดใหม่ เด็กหลายคนอาจปฏิเสธอาหารในช่วงแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่ยอมกินหรือไม่ชอบ พ่อแม่ต้องใจเย็น ค่อยๆ ฝึกให้ลูกกินอาหาร ให้เว้นระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วให้อาหารนั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยทั่วไปอาจต้องลองป้อน 8-15 ครั้งกว่าเด็กจะยอมกิน
- 3. วิธีการป้อนอาหารที่เหมาะสม คือ พ่อแม่เป็นผู้เลือกว่าจะให้ลูกกินอาหารชนิดใด ที่ไหน และเมื่อไร ส่วนลูกเป็นผู้กำหนดปริมาณอาหารที่กินเอง ไม่ต้องบังคับให้ลูกกินหมดทุกมื้อ ฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นมื้อ เป็นเวลา แต่ละมื้อใช้เวลา 15-20 นาที (ไม่ควรเกิน 30 นาที) ให้กินอาหารเป็นที่เป็นทาง โดยนั่งกินอาหารที่โต๊ะอาหาร ไม่กินไปเล่นไปหรือดูโทรทัศน์ในขณะกินอาหาร
จะเลือกนมอย่างไรให้ลูกน้อย
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก จึงควรส่งเสริมให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน หลังอายุ 6 เดือน ให้อาหารตามวัยควบคู่กับนมแม่จนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้หรือมีความจำเป็นต้องใช้นมอื่นทดแทนนมแม่ จะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นมทดแทนให้ถูกต้อง
ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กปกติ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- นมดัดแปลงสำหรับทารก คือ นมวัวที่ดัดแปลงให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงนมแม่ ใช้สำหรับทารกแรกเกิด-อายุ 1 ปี
- นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง คือ นมวัวที่ดัดแปลงให้มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่างนมดัดแปลงสำหรับทารกและนมครบส่วน ใช้สำหรับทารกอายุ 6 เดือน – 3 ปี
- นมครบส่วน ใช้สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
เด็กอายุ 1-5 ปีควรกินอาหารหลักวันละ 3 มื้อ และอาหารว่าง 1-2 มื้อ ร่วมกับดื่มนมครบส่วนรสจืดวันละ 2 กล่อง เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า การบริโภคนมช่วยเพิ่มความสูงในเด็ก และอาจลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม เป็นต้น
รศ.พญ.สุภาพรรณ ย้ำว่า “สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการกินของเด็ก คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้องตั้งแต่วัยทารก โดยการให้อาหารตามวัยและฝึกให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสม ทั้งนี้ลูกจะเป็นเด็กกินง่ายหรือกินยาก ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่”