กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ สดช. และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย จัดสัมมนา โครงการ “เมืองยั่งยืน 2023” เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช. หรือ ONDE) และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 21 -22 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุม Mayfair Ballroom ชั้น 11 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมปาฐกถาและสัมมนาวิชาการ เพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาเมืองได้อย่างสร้างสรรค์เหมาะสมกับท้องถิ่น ให้น่าอยู่ ทันสมัย อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแสดงนวัตกรรมทางด้านการพัฒนาเมืองในทุกองค์ประกอบ เพื่อการพัฒนาโครงการอย่างชาญฉลาดและเหมาะสม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายเมืองยั่งยืนร่วมกันอย่างบูรณาการอย่างยั่งยืน

      ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) เป็นหนึ่งในแนวโน้มและความท้าทายสำคัญ Megatrends ที่โลกจะต้องเผชิญในคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โลกจะมีประชากรเมืองประมาณ2.4 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของประชากรโลก โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะมีอัตราการขยายตัวความเป็นเมืองมากที่สุด สำหรับประเทศไทยมีการขยายตัวความเป็นเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการกลายเป็นเมืองที่สำคัญในอนาคต คือการเติบโตของเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาคและเมืองขนาดกลางจะมีความหนาแน่นประชากรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเศรษฐกิจของเมืองในส่วนภูมิภาคหลายเมืองจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2562) การกลายเป็นเมืองนั้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกประสบปัญหาและความท้าทายมหาศาล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองเพื่อความยั่งยืน โดยคำจำกัดความ “ความยั่งยืนของเมือง” คือ เมืองที่มีกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและสมดุล ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น ความสามารถในการยืดหยุ่นรับการเปลี่ยนแปลง (Resilience) การพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) และ ประโยชน์ต่อเมืองอื่น (Positive Externality)

ประเทศไทยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญ เรื่องเมืองสีเขียว หรือ เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับเมืองในหลายบทบาท เช่น เมืองที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมืองที่เอื้อต่อการสร้างชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพ และปลอดภัย เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน ซึ่งทุกประเด็นปัจจัยที่กล่าวมานี้ ดิจิทัลเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างเครื่องมือสื่อสารในการเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้สมกับเป็นเมืองยั่งยืนที่ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

      สุภาวดี ตันติยานนท์ นายกสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายเมืองยั่งยืนร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งการจัดงานเมืองยั่งยืน 2023 ในปีนี้ นอกจากจะมีส่วนแสดงนวัตกรรมเพื่อการสร้างเมือง หัวข้อปาฐกถาพิเศษ จากองค์ปาฐกในหลากหลายมิติกว่า 12 หัวข้อ ยังมีการนำเสนอผลงานการพัฒนาสร้างเมืองยั่งยืนของเมืองต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างองค์ความรู้ที่ทำให้พวกเราได้รับฟังเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง พัฒนาท้องถิ่น โดยการจัดงาน 2 วัน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ท่าน ที่เดินทางมาทั้งจากส่วนกลางและทั่วประเทศ ซึ่งทาง DUGA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมืองยั่งยืน 2023 จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการริเริ่มและพัฒนานวัตกรรมทางการบริหารเมือง ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้จริง ในการบริหารงานตามพื้นที่ท้องถิ่นของตนเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนในเมืองต่อไป

สำหรับการสัมมนานี้มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้บริหารและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศ ผู้บริหารและบุคลากรส่วนกลางจังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารและบุคลากรภาครัฐส่วนกลาง ผู้บริหาร รวมถึงอาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สนใจ

ประกอบด้วยการสัมมนาวิชาการและปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรขององค์กรระดับประเทศ โดยในวันแรกจะมีหัวข้อดังนี้ “พัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน” โดย ชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “จาก SDGs สู่ ESG ทำไม จึงสำคัญ” โดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Founder, Brand Strategist & Sustainability Advisor The Brandbeing Consultant Co., Ltd.“คาร์บอนเครดิต พิชิตโลกร้อน” โดย ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) “นวัตกรรมเพื่อความยั่นยืนของทรัพยากรน้ำ” โดย ผศ.ดร.อักษรา พฤทธิวิทยา ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “การจัดการท่องเที่ยววิถีใหม่ บนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดย สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด “ยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” โดย ดวงพร ขุนทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับในวันที่ 2 จะมีหัวข้อ “โลกสีเขียว รอไม่ได้แล้ว วิถีใหม่ของโลกนับจากนี้ไป” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และยั่งยืน ทำอย่างไร” โดยดร.นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) พร้อมด้วยการนำเสนอผลงานการพัฒนาเมืองโดย คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรียะลา คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีร้อยเอ็ด ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร และคุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง

      บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึง การปรับตัวของธุรกิจพลังงานสู่ความยั่งยืน โดยยึดกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ. 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ 2. การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ 3. การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยทุก ๆ ปี ปตท.สผ. มีการประเมินและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท ครอบคลุมด้าน ESG และนำผลดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร โดยปีที่ผ่านมา บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์หลักขององค์กร 3 ด้าน ได้แก่

1. Drive Value คือ การขับเคลื่อนการเติบโตในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

2. Decarbonize การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

3. Diversify คือการเติบโตในธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับอนาคต เช่น ไฮโดรเจน

สำหรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ของ ปตท.สผ. เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองยั่งยืนนั้น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ได้มีการพัฒนานวัตกรรม เช่น VARUNA Smart Forest Solution เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว (Green Area Management) โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และโดรนมัลติสเปกตรัม เพื่อประมวลข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วย AI ในการบริหารจัดการ วางแผนและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่พื้นที่และสิ่งแวดล้อม และสามารถคำนวณคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มได้ในรูปแบบใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ (Large Scale Carbon credit Solution) สามารถช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก

ยังมี BEDROCK Smart City Data Platform เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเมืองที่มีความซับซ้อนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน และพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองให้กับท้องถิ่นไทยกว่า 100 แห่งแล้ว รวมถึงระบบเพื่อการสนับสนุนการบริการประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น ระบบการขออนุญาตก่อสร้าง ระบบเพื่อการจัดเก็บภาษี เป็นต้น นับเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาและดูแลท้องถิ่นไทย

การสัมมนานี้เป็นเวทีในการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการนำเสนอผลงานการพัฒนาเมือง การนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่น ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น น่าอยู่ ทันสมัย และยั่งยืน พร้อมด้วยมอบโล่เกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมพัฒนาเมืองยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลงานของบูธต่าง ๆ จากองค์กรเอกชนและภาครัฐที่สนับสนุนเมืองยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ผู้นำชุมชนได้มีความเข้าใจและนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างเครือข่ายเมืองยั่งยืนร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อประเทศได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

RELATED ARTICLE

Scroll to Top